Bangkok post> Jobs > Career guide

โบกมือลามหาวิทยาลัย ก้าวสู่การทำงาน

  • Published: Jan 26, 2016 14:50
  • Writer: Post Today | 2,078 viewed

 

     ชีวิตในวัยเรียนว่ายากแสนยาก ไหนจะต้องตั้งใจเรียน ทำการบ้าน เตรียมตัวสอบ แต่บอกได้เลยว่าชีวิตเมื่อมาถึงวัยทำงานแล้วยากยิ่งกว่าไม่มีตำราไหนเบ็ดเสร็จเอามาใช้ได้อย่างแท้จริง ทฤษฎีนั้นว่าไปแล้วช่วยได้ไม่ถึง 40% ที่เหลือเป็นเรื่องของการเรียนรู้จากของจริงทั้งนั้น ซึ่งถ้าให้เลือกแล้วชีวิตในวัยเรียนเป็นชีวิตที่น่าสัมผัสกว่าในวัยทำงานยิ่งนัก ก็ลองคิดดูซิว่า เพียงเริ่มต้นหางาน หลายๆ คนก็คงจะเห็นแล้วว่ามีอะไรหลายขั้นตอน และต้องมีการเตรียมตัวไม่ใช่น้อย

     ดังนั้น เพื่อช่วยให้ว่าที่บัณฑิต หรือผู้ที่เริ่มต้นหางานใหม่ๆ มีเทคนิคดีๆ เพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อบัณฑิตใหม่ทั้งหลาย

สมัครงานอย่างไรให้ได้งาน

เทคนิคของขั้นตอนนี้ที่สำคัญ คือ ผู้สมัครงานต้องหาตัวเองให้เจอก่อน ว่ามีความชอบในด้านใด ชีวิตในตอนเรียนนั้นบางคนอาจจะเรียนไปเรื่อยๆ ตามวิชาและหน่วยกิตที่กำหนด แต่เมื่อต้องก้าวไปสู่การทำงานแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นเตรียมตัวให้พร้อม ความรับผิดชอบอยู่ข้างหน้าอย่างน้อยก็ต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้ ด้วยการประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวเอง ดังนั้นควรที่ต้องเริ่มหาว่ามีตำแหน่งงานใดบ้างที่เปิดรับสมัคร

ในปัจจุบันนี้ การตรวจสอบหาตำแหน่งงานง่ายกว่าสมัยก่อนมาก ที่ต้องคอยติดตามดูประกาศของหน่วยงานโดยตรง หรือเดินดุ่มเข้าไปทิ้งใบสมัครไว้ก่อน หรือถ้าให้มีข้อมูลมากหน่อยก็จะมีประกาศรับสมัครงานตามสื่อสิ่งพิมพ์ และหนังสือสมัครงานโดยเฉพาะ แต่เมื่อยุคนี้เป็นยุคของความรวดเร็ว สื่อทันสมัยอย่างอินเทอร์เน็ตจะช่วยประโยชน์ได้มาก และไม่เพียงการตรวจสอบตำแหน่งงานเท่านั้น ในบางที่ยังรับสมัครผ่านอินเทอร์เน็ตเลย

อย่างไรก็ตาม การสมัครงานด้วยวิธีการต้องไปสมัครด้วยตัวเองนั้น ยังถือเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ จึงต้องเตรียมหลักฐานการสมัครงาน เช่น ข้อมูลส่วนตัวและการศึกษา หรือเรซูเม่ รูปถ่าย หลักฐานแสดงตนอย่างบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านไว้ให้พร้อมด้วย และก่อนที่จะไปสมัครหรือสัมภาษณ์งาน ควรต้องศึกษาองค์กรที่ต้องการทำงานด้วยเป็นพื้นฐานไว้ก่อน ทั้งลักษณะงาน การประกอบธุรกิจ เป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในการพิจารณาบริษัทนี้ แนะนำว่า ธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องการค้าเงินเป็นงานที่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเรื่องค้าเงินไม่ได้มีกฎหมายรองรับให้ผู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินทำได้

Tips 1.ชอบอะไร อยากเป็นอะไร เมื่อรู้แล้ว ไปเปิดช่องทางงานต่างๆ ดู
2.การได้ฝึกงานช่วงที่เรียนเป็นช่องทางหนึ่งที่ ทำให้มีโอกาสแสดงผลงานไว้

กรอกใบสมัครสัมภาษณ์

เมื่อเตรียมตัวและหลักฐานพร้อมแล้ว เริ่มต้นไปสู่การไปสมัครงานด้วยตัวเอง และสัมภาษณ์ คราวนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ “เสื้อผ้า หน้า ผม” เรียกได้ว่าต้องสร้างความพึงพอใจเมื่อแรกเจอ แต่ว่าต้อง ไม่เกินพอดี เพราะผู้ที่เรียนจบใหม่และหางานนั้น ยังอยู่ในวัยใส โชว์ความใสของตนเองจะดีกว่า เสื้อผ้าเลือกที่เรียบร้อย แต่ให้ต่างจากชุดนิสิต นักศึกษา สีสันไม่ฉูดฉาด ควรเป็นสีในโทนน้ำตาล สีน้ำเงิน หรือเทา

จากนั้นมาถึงขั้นตอนการกรอกใบสมัคร โดย ในใบสมัครนี้ นอกจากประวัติส่วนตัว และเรื่อง การเรียนแล้ว มักจะให้กรอกข้อมูลอื่นๆ เพิ่ม เช่น ความสามารถพิเศษ เช่น ด้านภาษา การใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงงานอดิเรกที่สนใจ

ในปัจจุบันองค์กรก็ไม่ได้ดูเพียงเรื่องผลการเรียนเท่านั้น แต่ยอมรับว่าสิ่งที่มองเป็นอันดับแรก ก็ต้องดูเกรดที่ได้มาเสียก่อน เพราะเป็นสิ่งที่บอกถึงความตั้งใจในช่วงที่เรียน แต่ในการที่จะตัดสินใจรับคนนั้น ก็จะดูสิ่งประกอบรอบด้านด้วย เพราะฉะนั้นในใบสมัคร และในการสัมภาษณ์ แสดงสิ่งที่เป็นตัวเราให้มากที่สุด

Tips 1.กรอกใบสมัครให้ครบทุกช่อง
2.ไม่ต้องรีบเพราะไม่มีการจับเวลาในการกรอกใบสมัคร
3.ห้ามขูด ขีดฆ่า ในใบสมัคร ถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ใช้น้ำยาลบคำผิดได้
4.อย่าลืมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มารยาท การไหว้ การเคาะประตู และอย่ามัวแต่คุยโทรศัพท์ในขณะ ที่รอ เพราะทุกการกระทำจะถูกมองและพินิจพิจารณาได้เสมอ
5.เมื่อได้รับเวลานัดสัมภาษณ์ ให้จำเวลา นัดหมายให้แม่น รวมทั้งสถานที่ ชั้น ที่ต้องไปติดต่อ

เริ่มต้นชีวิตคนทำงาน

เมื่อได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานแล้ว เป็นช่วงแห่งความรับผิดชอบ สิ่งที่ต้องท่องไว้เสมอคือ “ชีวิตคนทำงานไม่ใช่เด็กๆ แล้ว” กฎระเบียบ กติกา ขององค์กร ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อย่าใช้ข้อแก้ตัว ที่ว่า ทีคนอื่นยังทำได้ เพราะการเป็นเด็กใหม่ในที่ทำงานนั้นมักไม่มีข้อยกเว้น ในสมัยที่เรียนอาจจะมีช่วงเวลาพักด้วยการอ่านการ์ตูน แต่ในที่ทำงานภาพเช่นนี้ไม่เหมาะแน่นอน ห้ามโดยเด็ดขาด ต้องรู้จักปรับชีวิตไปสู่การทำงานให้ได้

Tips 1.ไปทำงานวันแรกอย่าสายเด็ดขาด
2.ปฏิบัติตามเทคนิคข้อแรกให้เคร่งครัด และต้องรักษาการเป็นคนตรงต่อเวลานี้ไว้ให้ตลอด รวมถึงมีวินัยในการทำงาน

     ทุกองค์กรต้องการคนทำงานที่มีคุณภาพ โดยที่องค์กรจะเป็นฝ่ายเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ทำงาน การฝึกอบรม ให้กับบุคลากรเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ขอเพียงแต่ให้พนักงานมีใจที่จะไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น ที่ทำงานเป็นที่ที่จะให้คนเราได้แสดงความสามารถ ซึ่งเมื่อแสดงออกมาแล้วก็ย่อมส่งผลที่ดีกับผู้ปฏิบัติเอง ในอันที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำงานได้สำเร็จ มีคุณภาพในวิชาชีพที่ตัวเองได้เลือกแล้ว